เผย 7 ขั้นตอนขออนุญาตติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าควรรู้
การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคานั้น ก่อนจะติดตั้งอาจจะมีการติดต่อขออนุญาตกันสักนิดหน่อย ต้องติดต่อใคร และดำเนินการอย่างไรบ้าง อ่านรายละเอียดต่อไปได้ในเนื้อหาด้านล่างได้เลยย..

การหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดจากการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาที่มีการเชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า หรือระบบออนกริดนั้น นอกจากจะต้องมีการวางแผนออกแบบระบบโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องต่อกฏหมาย ก็คือ การดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จึงจะถูกต้อง ครบถ้วนตามกระบวนการ โดยมีขั้นตอนในการขออนุญาตโดยสรุป ดังนี้
1. จัดทำแบบติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ที่ได้รับการตรวจสอบอนุมัติโดยวิศวกร
เมื่อมีผู้สนใจต้องการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา และมีการเชื่อมต่อระบบกับสายส่งของการไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า ระบบออนกริดนั้น วิศวกรจะเริ่มต้นกระบวนการด้วยการสำรวจสถานที่บนหลังคา และออกแบบจุดตั้งตั้งระบบสายส่ง รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจัดทำเป็นแบบแปลนในการวางแผนติดตั้ง สำหรับการขออนุญาตต่อไป

2. แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของที่พักอาศัยหรืออาคารรับทราบก่อนการติดตั้ง
เมื่อวิศวกรได้ดำเนินการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไปดำเนินการแจ้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักอาศัย หรืออาคารนั้นๆ เพื่อแจ้งขออนุญาตปรับปรุงต่อเติมอาคาร ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา สำหรับเป็นตัวรับแสงอาทิตย์ในการให้กำเนิดกระแสไฟฟ้า

3. ดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาตามแบบ
เมื่อได้รับการอนุมัติจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา รวมไปถึงการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบควบคุม และระบบแปลงไฟฟ้าหรือ Inverter ต่อระบบสายดิน และเชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้า ในรูปแบบระบบออนกริด

4. ลงทะเบียนประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต
เมื่อดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาต่างๆจนแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการต่อในการลงเบียนขอประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต โดยสามารถดำเนินการได้โดยตรงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. หรือจะดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th โดยหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคล ต้องเตรียมเอกสารสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล, สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นที่นายทะเบียนรับรอง , ภพ. 20 , สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และรับมอบอำนาจ, หนังสือมอบอำนาจแบบที่ทาง กกพ.กำหนด ส่วนบุคคลธรรมดา เตรียมเอกสารสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และรับมอบอำนาจ, หนังสือมอบอำนาจแบบที่ทาง กกพ.กำหนด

5. แจ้งกฟน. หรือ กฟภ. ดำเนินการเข้าตรวจสอบระบบ และดำเนินการชำระค่าใช้จ่าย สำหรับส่งให้ กกพ. ออกหนังสือแจ้งยกเว้นการขออนุญาต
ในขั้นตอนนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้วแต่ว่าที่พักอาศัย หรืออาคารนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด จะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการว่าได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาถูกต้องตามแบบที่ได้นำเสนอไปหรือไม่ มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากสอดคล้องก็จะมีการส่งหนังสือรับรองไปยังกกพ. เพื่ออนุมัติการดำเนินการยกเว้นการขออนุญาตฯ ต่อไป

6. ยื่นสำเนาหนังสือรับแจ้งยกเว้นการขออนุญาตจาก กกพ. ต่อ กฟน. หรือ กฟภ.
เมื่อมาถึงกระบวนการนี้เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะมาดำเนินการเชื่อมต่อระบบโซลาเซลล์เข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้ไฟได้ทั้ง 2 ระบบ กรณีที่ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีไม่เพียงพอก็สามารถดึงไฟฟ้ามาจากระบบสายส่งได้ หากกรณีมีไฟฟ้าเกินความต้องการ ก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย

7. ดำเนินการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์
เมื่อดำเนินการทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น ผู้ลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ก็สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านได้ตามปกติ ส่วนช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ก็สามารถปรับไปใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าแทน
จากขั้นตอนต่างๆ แม้จะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน แต่หากมีผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญ ก็จะสามารถดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้น หากท่านใดสนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ บริษัท โซลาร์ พาวเวอร์ ครีเอชั่น ที่พร้อมอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอนในการติดตั้งและขออนุญาตต่างๆ อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานคุณภาพ มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 082 – 6282456 หรือแอดไลน์ @Solarpowercreation และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.powercreation.co.th และ Facebook : Solar Power Creation

